ลบ แก้ไข

เปิดมุมมองเออีซีผ่านเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเยาวชน

ยิ่งใกล้จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ก็ยิ่งต้องทำความเข้าใจให้มากขึ้น โดยเฉพาะกับเยาวชนในเขตภูมิภาคอาเซียน

มหาวิทยาลัยสยามเล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการ “SIAM UNIVERSITY ASEAN WORKSHOP 2015” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเยาวชนนักศึกษาจาก 14 ประเทศอาเซียน จำนวน 38 คน มีทั้ง ไทย, ฟิลิปปินส์, บรูไน, สิงคโปร์, เมียนมาร์, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, อินเดีย, จีน, เกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น

ชนาธิป สุกใส อาจารย์ประจำศูนย์อาเซียนศึกษา ฝ่ายประสานงานโครงการ เปิดเผยว่า “SIAM UNIVERSITY ASEAN WORKSHOP 2015” จัดขึ้นเพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกลุ่มเยาวชน ซึ่งเป็นนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาของประเทศอาเซียน ใน 7 ประเด็นที่สำคัญสำหรับอาเซียนด้วยกันคือ 1.ด้านการศึกษา 2.ด้านแรงงาน 3.ด้านเศรษฐกิจ 4.ด้านศิลปวัฒนธรรม 5.ด้านประชาธิปไตย 6.ด้านความมั่นคงของมนุษย์ 7.ด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ประเทศอาเซียนหลายประเทศได้เตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเฉพาะการให้เด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศชาติ ได้ตื่นตัวมากยิ่งขึ้นว่าเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจ โดยไม่มองว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว เนื่องจากที่ผ่านมามีเด็กและเยาวชนยังไม่ค่อยเข้าใจในเรื่องนี้เท่าที่ควร ทั้งนี้หากทุกภาคส่วนของประเทศไทยร่วมมือกันอย่างมุ่งมั่นและจริงจังในการขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เชื่อว่าประเทศเราจะพัฒนามีความก้าวหน้าไม่แพ้ประเทศในกลุ่มอาเซียนเลย”

Nget Yachhin นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยนอร์ตัน ประเทศกัมพูชา กล่าวว่า ทางด้านการศึกษาของประเทศในกลุ่มอาเซียน ควรมีมาตรฐานเดียวกัน อย่างประเทศของตนเองยังไม่มีมาตรฐานเดียวกัน มีมหาวิทยาลัยเพียง 5 แห่งเท่านั้นที่สามารถนำคุณวุฒิไปต่อยอดที่อื่นได้ นอกจากนี้ควรมีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของประเทศอาเซียน เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ส่วนการสื่อสารนับว่ามีความสำคัญมาก ควรใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง ซึ่งเป็นภาษาสากล ดังนั้นประเทศใดที่ยังขาดทักษะทางด้านภาษาอังกฤษควรเร่งแก้ไข เพราะบางประเทศยังใช้ภาษาของตนเองอยู่

Nguyen Thi Lan Chi นักศึกษาจาก มหาวิทยาลัยการคมนาคมขนส่งโฮจิมินห์ซิตี้ ประเทศเวียดนาม กล่าวว่า ในการเชื่อมโยงระหว่างประเทศอาเซียนด้วยการคมนาคมขนส่งโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งในกลุ่มประเทศ ปรากฏว่า ยังล่าช้า ทั้ง ๆ ที่มีการตกลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะเส้นทางรถยนต์และรถไฟหลายเส้นทางการก่อสร้างยังไม่ไปถึงไหน เออีซีกำลังเริ่มในอีกไม่ช้านี้แล้วจะต้องเกิดปัญหาอย่างแน่นอน ดังนั้นควรหันหน้าเข้าหารือกันให้เป็นวาระเร่งด่วน สำหรับในภาคเศรษฐกิจนั้นควรลดช่องว่างระหว่างประเทศที่ร่ำรวยกับประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อร่วมพัฒนาอาเซียนให้ก้าวหน้าไปพร้อม ๆ กัน

Muhammad Nugraha Eka Wardana นักศึกษาจาก มหาวิทยาลัยสุราบายา ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาก แต่ดูเหมือนว่าในขณะนี้ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับศิลปวัฒนธรรมของตนเอง โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ อย่างประเทศอินโดนีเซียในทุกวันศุกร์จะพร้อมใจกันสวมชุดจากผ้าบาติกกันทั้งประเทศ ซึ่งไม่ได้มีการบังคับกันแต่อย่างใด นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการมองเห็นคุณค่าศิลปวัฒนธรรมของประเทศ จึงขอเสนอให้แต่ละประเทศในอาเซียนหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มาก ๆ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมระหว่างประเทศอาเซียนด้วย

Pallak Garg นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยปัญจาบ ประเทศอินเดีย กล่าวว่า ทางด้านประชาธิปไตยนั้น นักศึกษาทราบว่า ประชาธิปไตยคืออะไร แต่ยังไม่ค่อยได้มีบทบาทและส่วนร่วมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง ดังนั้นควรมีการสนับสนุนและส่งเสริมให้เยาวชนได้มีเวทีและส่วนร่วมทางการเมืองในเชิงที่สร้างสรรค์แล้วอย่างเหมาะสม เพื่อส่งความคิดเห็นผ่านไปยังผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ด้านความมั่นคงของมนุษย์ ควรมีการเชื่อมโยงระหว่างรัฐกับประชาชนให้มากขึ้น มีการสร้างมาตรฐานและความปลอดภัยในการทำงานของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะผู้หญิง ส่วนทางด้านสิ่งแวดล้อม ควรร่วมมือร่วมใจในการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้พลังงานอย่างมีคุณค่าและให้เกิดความยั่งยืน ที่สำคัญการรณรงค์ในเรื่องการประหยัดควรเน้นที่ สำนักงาน อาคาร ที่ทำงาน สถานศึกษา ให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักมีจิตสำนึกต่อการใช้สมบัติส่วนรวม

บทสรุปสำคัญที่นักศึกษาในประเทศกลุ่มอาเซียนเห็นพ้องต้องกันคือ ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาหลายประเทศในกลุ่มอาเซียนมีความขัดแย้งกัน แต่ถึงวันนี้ประเทศสมาชิกในฐานะคนในยุคปัจจุบันจะต้องหันหน้าเข้ามาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยนำเรื่องราวความขัดแย้งไม่ลงรอยกันเป็นบทเรียนอันมีค่า มาแก้ไขข้อผิดพลาดหรือความไม่เข้าใจกันให้ดียิ่งขึ้น เชื่อว่า กลุ่มประเทศอาเซียนจะมีพลังที่แข็งแกร่ง พร้อมทั้งเจริญเติบโตไปด้วยกันในโลกใบนี้

“SIAM UNIVERSITY ASEAN WORKSHOP 2015 เป็นโครงการที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เยาวชนในเขตภูมิภาคอาเซียน 14 ประเทศ ได้มาแลกเปลี่ยนทรรศนะในด้านต่าง ๆ เพื่อนำองค์ความรู้ความเข้าใจที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก่อนที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี รวมทั้งได้เดินทางไปทัศนศึกษายังสถานที่สำคัญต่าง ๆ ทั้งทางด้านศิลปวัฒนธรรมและหน่วยงานสำคัญของเมืองไทยและระหว่างประเทศ ผลการดำเนินงานของโครงการนี้นับเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยสยามยังคงเดินหน้าจัดกิจกรรมต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อเยาวชน ต่อสังคม และประเทศในแถบภูมิภาคอาเซียนต่อไป” ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดี มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวสรุป.

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : นสพ.เดลินิวส์ 

 

เกี่ยวกับประเทศ

 

Editor
ชม 1,756 ครั้ง
 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน Developed By Upbean ข้อกำหนดและเงื่อนไขในการให้บริการ